เป็นตุ่มน้ำใส ๆ ปวดแสบปวดร้อน แบบนี้ ใช่ ‘งูสวัด’ ไหม?

643
งูสวัด

งูสวัดนี่เป็นคำถามที่น่าสนใจจากหนุ่มสาววัยทำงาน ที่เภสัชกรในร้านยามักถูกถามบ่อย ๆ ค่ะ โดยเฉพาะเมื่อเขา/เธอเหล่านั้น อยู่ในช่วงที่กำลังหารายได้เร่งสร้างตัว ทำให้บางช่วงเวลารับงานมากเกินพิกัด (โดยเฉพาะชาวฟรีแลนซ์) จนต้องอดตาหลับขับตานอนทำงานส่งลูกค้าต่อเนื่องหลายวัน หรืออยู่ในไฟลท์บังคับ อย่างเช่น นักศึกษาปีสุดท้ายที่ต้องปิดโปรเจคให้ทันกำหนด ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจทีเดียวค่ะ

อันที่จริง คนไทยส่วนใหญ่เคยได้ยินคำว่า งูสวัด (Shingles) มาบ้างค่ะ แต่เมื่อเกิดอาการผิดปกติทางผิวหนังกับตัวเอง ก็ไม่แน่ใจว่า เจ้าตุ่มแดง ๆ กับอาการแสบ ๆ ร้อน ๆ คัน ๆ นี้ เกิดจากงูสวัด หรือเป็นอาการแพ้อะไรหรือเปล่า หรือเป็นโรคเริม อีสุกอีใส ฯลฯ ที่ใคร ๆ เขาว่ามีอาการคล้ายกัน?

ในบทความนี้ เราจะมาคุยกันเรื่องโรคงูสวัดให้เข้าใจกันมากขึ้น ทั้งด้านสาเหตุ การรักษา การป้องกัน และทำให้เห็นความแตกต่างจากโรคอื่น ๆ ที่หลายคนมักสับสนกันนะคะ

1. สาเหตุของงูสวัด

โรคงูสวัด เป็นโรคที่แสดงอาการทางผิวหนัง อันเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Varicella zoster virus (VZV) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า HHV-3 ค่ะ

โดยในรอบแรก (ครั้งแรกของชีวิต) ที่ติดเชื้อไวรัส HHV-3 นี้ เราจะมีอาการไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีตุ่มพองน้ำใส ก่อนจะแตก ตกสะเก็ดแล้วคัน ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “โรคอีสุกอีใส” ค่ะ และคนไทยจำนวนไม่น้อย ผ่านการเป็นโรคอีสุกอีใสครั้งแรกตั้งแต่วัยเด็ก มักติดจากบรรดาญาติพี่น้องหรือเพื่อนวัยเยาว์ ที่มีการเล่นคลุกคลีกันโดยไม่ทันระวังในจังหวะที่มีใครสักคนติดเชื้อนี้อยู่ เพราะ HHV-3 เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ทางน้ำลาย เสมหะ การจามใส่กัน และการสัมผัสถูกเนื้อตัวกันค่ะ

นอกจากนี้ ใครก็ตามที่เป็นโรคงูสวัด (ไม่จำกัดวัย) ก็สามารถแพร่เชื้องูสวัดให้คนข้าง ๆ ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส ให้กลายเป็น “โรคอีสุกอีใส” ในครั้งแรกของชีวิตได้ด้วยค่ะ

ที่ต้องกล่าวถึง “โรคอีสุกอีใส” ก่อน ก็เพราะอยากให้ท่านเข้าใจอย่างถูกต้อง ว่าแท้ที่จริงแล้ว เชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส กับ โรคงูสวัด คือ เชื้อไวรัส HHV-3 ตัวเดียวกันนี่เอง ต่างกันที่ ถ้าเป็นครั้งแรก จะเรียกว่าเป็น  โรคอีสุกอีใส และมีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้นค่ะ

ส่วนการเป็น “โรคงูสวัด” เกิดจากเชื้อ HHV-3 ตัวเดียวกันนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายหลังการติดเชื้อครั้งแรกไปแล้ว เขาจะไม่ไปไหนค่ะ ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย ตรงตำแหน่งที่เรียกว่า “ปมประสาท” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณรับรู้สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ฯลฯ ซึ่งเจ้าไวรัสงูสวัดจะยึดครองพื้นที่พิเศษนี้ไปได้ยาวนานตลอดชีวิต รอเพียงว่ามีช่องโหว่ให้แสดงฤทธิ์เดชของไวรัสได้เมื่อไร ก็จะมีอาการออกมานั่นเองค่ะ

หากท่านสงสัยว่า “ช่องโหว่” ที่ว่านี้ คืออะไร ? เฉลยก็คือ การที่ภูมิต้านทานในตัวเราลดลง โดยมาก มักเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงติดต่อกันหลายคืน ร่วมกับความเครียดวิตกกังวล และรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ อันทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคอย่างเม็ดเลือดขาวอ่อนแอกว่าปกติ รวมถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยบางโรคที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ HIVs ที่ทำให้เสี่ยงต่อการกำเริบของเชื้อไวรัสงูสวัดมากขึ้นค่

2. อาการของงูสวัด

เนื่องจากเชื้อไวรัสงูสวัด หรือ HHV-3 นี้อาศัยอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งโดยธรรมชาติจะพาดตัวเป็นแนวยาว หากเชื้อนี้เหิมเกริมอาการกำเริบขึ้นมาในช่วงที่ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง เราจะสังเกตเห็นเป็นผื่นสีแดง ทั้งทำให้รู้สึกคัน โดยผื่นมักจะเรียงต่อกันเป็นแนวยาว จากบริเวณแนวกลางสันหลังลำตัว เอว (พบมากที่สุด) แขน ขา และบางรายจะมีอาการที่ ตา และ หู ได้ด้วยนะคะ

อาการผื่นแดงจากงูสวัดจะอยู่ประมาณวันเดียวค่ะ หลังจากนั้นจะแปรเปลี่ยน กลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ อยู่ 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะตกสะเก็ดและแห้งไป ซึ่ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอยู่ในระดับต่ำมาก จะเป็นผื่นในระดับรุนแรง อาจสังเกตเห็นผื่นเกิดขึ้นรอบลำตัวก็เป็นได้ค่ะ

3. วิธีการรักษา

การรักษางูสวัด แบ่งได้เป็นสองส่วนนะคะ

ส่วนแรก คือ การใช้ยาต้านไวรัส (antiviral drugs) ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้ คือ ต้องไม่แพ้ยา และจะได้ผลต่อเมื่อเริ่มใช้ใน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมงแรก หลังจากที่เริ่มสังเกตเห็นรอยผื่นแดงค่ะ โดยตัวยาต้านไวรัสที่นิยมสำหรับโรคงูสวัด ได้แก่ Acyclovir, Famcyclovir และ Valacyclovir ซึ่งแต่ละชนิดมีขนาดความแรงและวิธีการบริหารยา (ความถี่ในการรับประทานต่อวัน) แตกต่างกันไป ควรให้แพทย์วินิจฉัยอาการที่เป็น หรือปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยา เพื่อให้การใช้ยานี้ได้ประสิทธิผลดีที่สุด และยังสามารถประเมินการแพ้ยา (หากแพ้ยา) ได้ด้วยค่ะ

ส่วนที่สอง คือ  จะการใช้ตัวช่วย (supportive treatment) เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัด อาทิเช่น การใช้เจลประคบเย็น (โดยทั่วไป เรามักเห็นจำหน่ายเป็นถุงเจลสีฟ้า) หรือ อาจใช้ผ้าก๊อซ ผ้าขนหนูเนื้อนุ่ม ชุบน้ำเย็น / น้ำเกลือ ประคบสัก 10 นาที ตรงบริเวณที่เป็นผื่น ทำอย่างนี้วันละ 3-4 ครั้ง

รวมถึง การเลือกใส่เสื้อผ้าที่ขนาดใหญ่กว่าตัว ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศดี ไม่รัดแน่นบริเวณผื่น / ตุ่มน้ำใส ที่เมื่อเสียดสีกับผ้าจะยิ่งปวดแสบปวดร้อนมากขึ้นค่ะ

4. วิธีการป้องกัน

ในปัจจุบัน วงการแพทย์มีวัคซีน Zostavax® ที่สามารถฉีดเพื่อป้องกันและลดระดับความรุนแรงของการเป็นโรคงูสวัดได้ 50% แต่แนะนำให้ฉีดกับผู้ที่อายุมากกว่าห้าสิบปปี ซึ่งหากเป็นโรคนี้จะอาการรุนแรง

กล่าวโดยสรุป

แม้โรคงูสวัดจะเกิดจากเชื้อไวรัส HHV-3 เช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส แต่อาการและวิธีการรักษาก็แตกต่างกัน ส่วนโรคเริมนั้น เกิดจากไวรัสคนละชนิด คือ Herpes simplex virus-1 (HSV-1) – มักทำให้เป็นเริมที่ปาก และ Herpes simplex virus-2 (HSV-2) – มักทำให้เป็นเริมที่อวัยวะเพศค่ะ ทางด้านอาการแพ้อาหาร ฝุ่น หรือยา โดยทั่วไปแล้ว มักทำให้มีผื่นหลากหลายรูปแบบ ทั้งผื่นแดงคันเฉพาะจุด (แพ้จากการสัมผัส) หรือ ผื่นลมพิษกระจายทั่วตัว เมื่อหยุดหรือหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้แพ้ ก็จะอาการทุเลาลงได้เอง หรือรับประทานยากลุ่มแก้แพ้ก็จะอาการดีขึ้นอย่างมาก

โรคงูสวัด จึงนับเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งด้านสาเหตุ อาการและการรักษา ซึ่งท่านควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน หากพบความผิดปกติใด ๆ กับร่างกายเพื่อวินิจฉัยและเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสมโดยเร็วค่ะ แล้วพบกันใหม่กับเรื่องน่ารู้และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพจากเภสัชกร กับ uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ ) นะคะ

เภสัชกรหญิง กนกรัตน์ ไชยลาโภ

https://nokdinoschool.com/bio/

https://www.blockdit.com/dinoschool

คลิปน่าสนใจโรคงูสวัดค่ะ

พบหมอมหิดล

โรคงูสวัด อันตรายถึงชีวิต?

ขอบคุณคลิปจาก : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล

รวมบทความดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลัง โรคและการป้องกัน สาระดีๆ ที่ต้องรีบแชร์ต่อ
uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ )