กรดไหลย้อนรักษาได้!! ด้วยการปรับพฤติกรรมตัวเอง

319
กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก
กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก

กรดไหลย้อนรักษาได้! นอกจากการกินยาเพื่อบรรเทาอาการแล้ว การปรับนิสัยการกิน การนอน ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้นอีกด้วย แค่ปรับนิสัยใหม่ชีวิตก็เปลี่ยน

โรคกรดไหลย้อน เกิดจากสาเหตุอะไร?

กรดไหลย้อน หรือ Gastroesophageal reflux disease (GERD) เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรคในระบบทางเดินอาหารที่มีสถิติผู้ป่วยในเอเชียราว 10% และในทวีปโซนยุโรปมากกว่าถึง 20-30 % จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขมิใช่น้อย และภาวะของโรคยังกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งในหลอดอาหารได้ด้วยค่ะ


สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักว่า กรดไหลย้อน คืออะไร ลองอ่านบทความก่อนหน้านี้ของ uHealthy.co ได้ก่อนนะค่ะ

คลิก >> กรดไหลย้อน! เรอเปรี้ยว ขย้อน แสบร้อนกลางอก กลืนอาหารลำบาก


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองใหม่ เพื่อรักษากรดไหลย้อน

  • ลดความเครียด
  • งดการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่น
  • ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน
  • ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษาและหลีกเลี่ยงการเบ่ง

เปลี่ยนนิสัยในการรับประทานอาหาร

  • หลังรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การยกของหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด, อาหารมัน, อาหารย่อยยาก, พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ และอาหารฟาสต์ฟู้ด
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม peppermints เนย ไข่ นมหรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มแน่นท้องมากเกินไป

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนใหม่

  • ไม่ควรนอนหลังการรับประทานอาหารทันที หรืออย่างน้อยควรเว้นระยะห่าง 3 ชม.
  • หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้ว เวลานอน

ทานยารักษากรดไหลย้อน

โดยทั่วไปจะใช้ยารักษาตามอาการและความถี่ในการเป็น ซึ่งแบ่งยาที่นิยมใช้ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ยาลดการสร้างกรดในกระเพาะโดยการปิดกั้นที่ตัวรับฮีสตามีน (Histamine type2 receptors หรือ เรียกว่ายากลุ่ม H2 Blockers ได้แก่ ตัวยา Cimetidine, Ranitidine, Famotidine และ Nizatidine
  2. ยาที่มีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร โดยยับยั้งที่เอนไซม์ Proton Pump หรือ เรียกว่ายากลุ่ม Proton – Pump Inhibitors (PPIs) ได้แก่ ตัวยา Esomeprazole, Omeprazole, Lansoprazole, Rabeprazole และ Pantoprazole
  3. ยาที่ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวมากขึ้น หรือเรียกว่า Prokinetic Agents เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวไปข้างล่างได้เร็วขึ้น หูรูดเหนือกระเพาะจะปิดได้สนิทดีขึ้น เช่น ตัวยา Domperidone, Metoclopramide, Cisapride และ Bethanechol เป็นต้น
  4. ยาลดกรมสูตรอัลจิเนต (Algenic acid) เช่น Gaviscon® มีส่วนผสมของโซเดียม อัลจิเนต, โซเดียม ไบคาร์บอเนต และแคลเซียม คาร์บอเนต กลไกคือ เมื่อยานี้เจอกับกรด จะค่อย ๆ พองตัวเป็นชั้นเจลเหนือกรดในกระเพาะ จึงลดอาการระคายเคืองจากกรดไหลย้อนได้ นิยมใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น ๆ ที่กล่าวมาค่ะ

สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้เป็นโรคกรดไหลย้อน

  • งดชา
  • งดกาแฟ
  • งดน้ำอัดลม
  • งดของมัน
  • งดของทอด
  • งดของเผ็ดเปรี้ยว
  • งดขนมเค้ก
  • งดช็อกโกแลต
  • งดแอลกอฮอล์
  • รอให้อาหารย่อยสามชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่
  • กินยาให้ครบ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนแล้ว ต้องใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กับการรับประทานยาในขนาดความแรงและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้โรคกรดไหลย้อนเป็นปัญหาใหญ่จนอาจลุกลามเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้ค่ะ

แล้วพบกันใหม่กับสาระดี ๆ เรื่องราวการดูแลสุขภาพจากเภสัชกร เพื่อประโยชน์ของตัวท่านและคนใกล้ชิด กับ uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ ) นะคะ