กระเจี๊ยบแดง ไม่ได้นำไปทำน้ำผลไม้เพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ยังสามารถนำไปรักษาโรคได้ เพราะกระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรทางยาด้วยค่ะ โดยดอกกระเจี๊ยบแดงแก่จะมีสรรพคุณทางยาเยอะมาก ซึ่งวันนี้ uHealthy.co จะนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับกระเจี๊ยบแดงสมุนไพรอย่างหนึ่งมาฝากผู้อ่านกันค่ะ
กระเจี๊ยบแดง ภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า Rosella หรือ Jamaican sorel หรือ Roselle หรือ Rozelle หรือ Sorrel หรือ Red sorrel หรือ Kharkade หรือ Karkade Vinuela หรือ Cabitutu กระเจี๊ยบแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Hibiscus sabdariffa Linn. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ชบา MALVACEAE
สมุนไพรกระเจี๊ยบแดง มีชื่อท้องถิ่นหลากหลายชื่อ เช่นในจังหวัดตาก เรียกว่า ผักเก็งเค็ง หรือ ส้มเก็งเค็ง หรือ ส้มตะเลงเครง, ในจังหวัดระนอง เรียกว่า ใบส้มม่า, ในจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า แกงแคง, ในแม่ฮ่องสอน เรียกว่า ส้มปู , ชาวกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียกว่า แบลมีฉี่, ชาวกะเหรี่ยงแดง เรียกว่า แต่เพะฉ่าเหมาะ , ภาคเหนือ เรียกว่า ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง) หรือ กระเจี๊ยบ หรือ ส้มเก็ง ส้มพอเหมาะ, ภาคอีสาน เรียกว่า ส้มพอดี, ภาคกลาง เรียกว่า กระเจี๊ยบแดง หรือ กระเจี๊ยบเปรี้ยว เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศซูดาน ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตหลักๆ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา
กระเจี๊ยบแดง รู้หรือยังไม่ได้นำไปทำน้ำผลไม้เพียงอย่างเดียวแต่เป็นสมุนไพรทางยาได้อีกด้วย
ลักษณะของกระเจี๊ยบแดง
ต้นกระเจี๊ยบแดงมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร ลำต้น กิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือแบบ 3 แฉก หรือแบบ 5 แฉก ขอบใบเป็นฟันเลื่อย มีความกว้างและความยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ดอกกระเจี๊ยบแดง ป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดองสีชมพู มีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอดตรงดอก ก้านดอกสั้นยาวเรียวแหลม เมื่อบานเต็มที่ดอกกระเจี๊ยบแดง จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร ผลกระเจี๊ยบแดง ลักษณะเป็นทรงรีปลายแหลม ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กระเจี๊ยบอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำ เราจะเรียกบริเวณนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบ
ขั้นตอนการเก็บกระเจี๊ยบแดงและตากแห้ง
เราควรเก็บกระเจี๊ยบที่แก่โดยสังเกตได้จากการเก็บกระเจี๊ยบจากด้านล่างสุดเพราะว่าผลที่แก่จะอยู่บริเวณด้านล่างสุด หลังจากเก็บกระเจี๊ยบมาได้ขั้นตอนต่อไปคือการนำเมล็ดออก โดยเหตุผลที่ต้องเอาเมล็ดกระเจี๊ยบออกมีสองเหตุผลหลักด้วยกันคือ 1.ไม่มีใครกินเมล็ดกระเจี๊ยบกัน 2.เอาเมล็ดไปทำพันธุ์กระเจี๊ยบเพื่อที่จะทำการปลูกในครั้งต่อๆไป
หลังจากนำเมล็ดกระเจี๊ยบแดงออกแล้วให้นำตัวกระเจี๊ยบทั้งหมดไปตากแห้ง โดยตากแห้งใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ ตากจนตัวกระเจี๊ยบจะแห้ง เหตุผลที่ต้องตากให้แห้งก็เพราะว่าเพื่อให้ตรงตามกับความต้องการของโรงพยาบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลก็จะนำตัวกระเจี๊ยบแห้งนี้ไปทำเป็นตัวยาอีกทีนึง โดยกระเจี๊ยบแดงแห้งจะช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายในเลือดหรือช่วยในเรื่องอาการเจ็บคอได้ดี
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
- ใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือดและช่วยลดน้ำหนัก
- จากการทดลองกับกระต่ายที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง พบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับคอเลสเตอรอล และระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดี (HDL) อีกด้วย นอกจากนี้อัตราความรุนแรงในการเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่อุดตันจากหัวใจก็ลดน้อยลงกว่ากระต่ายกลุ่มที่ไม่ถูกให้การรักษาโดยสารสกัดกระเจี๊ยบแดงอีกด้วยไม่ว่าจะเป็น ผล หรือ เมล็ด หรือ น้ำกระเจี๊ยบแดง
2.ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด
3.ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ
4.บรรเทา รักษาอาการอ่อนเพลีย
5.รักษาโรคเบาหวาน
6.ลดความดันโลหิต
- มีการวิจัยทางคลินิกในวันที่ 12 หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยชาชงกระเจี๊ยบแดงเป็นเวลาทุกๆวัน พบว่าค่าความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและเมื่อหัวใจคลายตัวลดลงถึงร้อยละ 11.2 และร้อยละ 10.7 ตามลำดับเมื่อเทียบกับวันที่หนึ่ง และวันที่ 3 หลังจากหยุดการให้ดื่มชาชงกระเจี๊ยบแดง พบว่าค่าความความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและเมื่อหัวใจคลายตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
7.ช่วยบำรุงโลหิต
8.รักษา บรรเทาเส้นเลือดตีบตัน เพื่อให้เส้นเลือดแข็งแรงกว่าเดิม และมีความอ่อนนิ่มยืดหยุ่นได้ดีกว่าเดิม
9.ทำให้ความข้นเหนียวของเลือดลดลง
10.ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดแข็งเปราะได้อย่างดี
11.ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
กล่าวโดยสรุป
กระเจี๊ยบแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Hibiscus sabdariffa Linn. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ชบา MALVACEAE กระเจี๊ยบแดง ภาษาอังกฤษ มีชื่อเรียกว่า Rosella หรือ Jamaican sorel ฯ สมุนไพรกระเจี๊ยบแดง มีชื่อท้องถิ่นหลากหลายชื่อ เช่น ผักเก็งเค็ง หรือ ส้มเก็งเค็ง หรือ ส้มตะเลงเครง หรือ ใบส้มม่า หรือ แกงแคง โดยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศซูดาน ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตหลักๆ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งดอกกระเจี๊ยบแดงแก่จะมีสรรพคุณทางยาเยอะมาก โดยกระเจี๊ยบแดงแห้งจะช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายในเลือด, ทำให้ความข้นเหนียวของเลือดลดลง, ใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือดและช่วยลดน้ำหนัก และยังลดความดันโลหิตได้อีกด้วยค่ะ
แล้วพบกันใหม่กับสาระดี ๆในบทความเพื่อสุขภาพ เรื่องราวการดูแลสุขภาพจาก uHealthy.co ในบทความต่อไปกันนะคะ