วันนี้ uHealthy.co จะมาคุยกันเรื่องอาการปวดท้องที่มีทั้งหมด 5 แบบ 5 ตำแหน่ง บอกโรคที่ต้องระวังเมื่อท่านปวดท้องทั้งด้านซ้าย ด้านขวา ตรงกลาง ท้องน้อย หรือแม้กระทั่งปวดประจำเดือน อย่างที่บอกท้องเรามีหลายด้าน โรคเราก็มีหลายอย่างเช่นกัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านรู้อาการเหล่านี้ ไปหาแพทย์เร็ว รักษาเร็วก็จะหายเร็วเช่นกันนะคะ จะมีตำแหน่งไหน ปวดอย่างไร หรือเป็นโรคอะไรได้บ้างไปดูกันเลยค่ะ
เช็ค 5 สัญญาณเตือน ปวดท้องตำแหน่งไหนถึงเรียกว่าอันตราย
1.ปวดท้องน้อย
ในทางการแพทย์ได้แบ่งอาการปวดท้องน้อยออกเป็น 3 ประเภท
-ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันเป็นอาการปวดที่อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติใดๆส่งสัญญาณผิดปกติก่อนหน้า และพอเกิดขึ้นแล้วก็จะมีการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับการเป็นลมหมดสติตามมา โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆที่อยู่ภายในช่องท้อง เช่น มดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคนิ่วในท่อไต จนเป็นเหตุให้มีการขาดเลือดไปเลี้ยงในอวัยวะส่วนต่างๆ
-ปวดท้องน้อยแบบซ้ำๆ อาการปวดท้องน้อยประเภทนี้สามารถพบได้ในเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการไข่ตกและกลายเป็นประจำเดือนในเวลา
-ปวดท้องแล้วแบบเรื้อรัง เป็นอาการปวดท้องน้อยที่สามารถพบได้มากที่สุด และมีปัญหาในการวินิจฉัยโรคมากที่สุด อย่างไรก็ตามแพทย์ก็สามารถสรุปได้ว่าการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุ คือ เป็นโรคลำไส้แปรปรวน และมีพังผืดขึ้นในช่องท้อง แต่หากเกิดในผู้หญิงจะมีสาเหตุที่เพิ่มเข้าไปอีก คือ เป็นโรคช็อกโกแลตซีส เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดปกติ หรือเกิดขึ้นผิดที่ เนื้องอกบริเวณมดลูก ถุงน้ำรังไข่ และลำไส้ใหญ่ โดยอาจมีการพัฒนากลายเป็นมะเร็งต่อไปได้
2.ปวดท้องข้างซ้าย
สามารถระบุหรือวินิจฉัยโรคได้ดังนี้ เช่น
– โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ตัวผนังลำไส้ใหญ่พอเรามีอายุมากขึ้นมันจะเริ่มไม่ค่อยแข็งแรงแล้วก็จะโป่งเอาไปยืดยาว บางคนถุงผนังลำไส้ที่โป่งนี้มีหลายอันเลย ซึ่งมักจะโป่งอยู่ที่ข้างซ้ายของเรานี่แหละทั้งข้างขวาก็มีแต่ข้างซ้ายเยอะกว่า และพอเริ่มอายุมากขึ้นเรื่อยๆก็มักจะเกิดการอักเสบได้บ่อยๆ อาการคือมีไข้ขึ้น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
– ไส้เลื่อน ซึ่งอาการปวดท้องทางด้านซ้ายก็จะมีไส้เลื่อนผนังหน้าท้องก็เป็นไปได้ ไส้เลื่อนขาหนีบด้านซ้ายก็มีอาการปวดแน่นท้อง จุกแน่นท้องได้ ไส้เลื่อนแล้วมีอาการปวดท้อง สิ่งที่จำเป็นเลยคือเรามักจะคลำก้อนได้ที่บริเวณหน้าท้องหรือที่บริเวณขาหนีบ
– นิ่วในไต อาการปวดมักจะมาแบบคลื่น คือเป็น wave ปวดเยอะๆแล้วก็หายไป ปวดเยอะๆแล้วก็หายไป ไม่ใช่แบบปวดตลอด และจะปวดที่สีข้างหรือหลังมากกว่า เพราะว่าตัวไตของเราอยู่เยื้องไปทางด้านหลังมากกว่าทั้งข้างซ้ายและข้างขวา มันจะไม่ค่อยปวดมาข้างหน้ามันจะปวดด้านหลังและสีข้างมากกว่า อาการที่เป็นนิ่วในไตมีอย่างอื่นร่วมด้วยก็คือเรื่องของปัสสาวะ ปัสสาวะอาจจะมีสีโค้กเนื่องจากมีเลือด เม็ดเลือดผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะ ก็ทำให้ออกมาเป็นสีน้ำตาล
3.ปวดท้องด้านขวา
สามารถระบุหรือวินิจฉัยโรคได้ดังนี้ เช่น
– ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบมันจะไม่ใช่แค่ปวดเฉยๆมันจะต้องมีอาการร่วมต่างๆ ถ้าเกิดปวดด้านขวาล่างชัดเจนไข้ขึ้นสูง ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร ให้รีบพบแพทย์ทันทีเพราะมีโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบสูง
– โรคเกี่ยวกับไต โรคนิ่วในไต เช่นเดียวกับการปวดท้องด้ายซ้าย
– โรคตับอักเสบ ตับจะอยู่ใต้ชายโครงขวาเพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ปวดใต้ชายโครงขวาร่วมกับมีตาเหลืองตัวเหลือง
– โรคนิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอยู่ใต้ตัวตับเพราะฉะนั้นเวลาปวดก็ปวดใต้ชายโครงด้านขวา อาการปวดเบื้องต้นถ้าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมักจะปวดหลังทานอาหารมื้อใหญ่ๆไปสักประมาณ 30 นาที หรือครึ่งชั่วโมง และจะปวดนานเป็นเวลา 2 ถึง 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และอาการก็จะทุเลาลงนานนานจะเป็นสักครั้งหนึ่งถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆให้รีบไปพบแพทย์เพื่ออัลตราซาวด์ดูว่าเรามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือเปล่า
– ภาวะท้องนอกมดลูก เมื่อไหร่ก็ตามที่ปวดท้องด้านขวาหรือด้านซ้ายก็ได้ และมีการขาดประจำเดือนหรือคิดว่าน่าจะท้อง ระวังว่าอาจจะเกิดภาวะท้องนอกมดลูกก็ได้
– อุ้งเชิงกรานอักเสบ อุ้งเชิงกรานของผู้หญิงส่วนใหญ่จะพบมีกลิ่นเหม็นเป็นน้ำไหลออกมาจากอวัยวะเพศได้ เป็นหนอง มีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์
4.ปวดท้องตรงกลาง
สามารถระบุหรือวินิจฉัยโรคได้ดังนี้ เช่น
-โรคกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางซึ่งจากอาการกำเริบทันทีหลังกินอาหารเสร็จแต่ละมื้อสามารถอ่านศึกษาข้อมูลเรื่องกรดไหลย้อนเพิ่มเติมได้ที่ https://uhealthy.co/208
-โรคลำไส้อักเสบ ปวดท้องตรงกลาง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาการปวดท้องตรงกลางจนทำให้รู้สึกคลื่นไส้ และท้องเสีย หากเป็นประจำอาจสามารถบ่งชี้อาการเริ่มต้นของโรคต่างๆได้ เช่นลำไส้อักเสบ จะรู้สึกปวดท้องบริเวณรอบรอบสะดือเป็นๆหายๆอันเกิดจากลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ หรือมีอาการปวดท้องตรงกลาง บิดๆ อาการปวดท้องแบบบิดๆ อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งจะมีอาการถ่ายเหลว และท้องเสียร่วมด้วย
-โรคตับอ่อนอักเสบ ปวดท้องตรงกลางเหนือสะดือ หากรู้สึกว่าปวดท้องบริเวณเหนือสะดือกลางตัวและใต้ลิ้นปี่เป็นสาเหตุความผิดปกติของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี หรือหลอดอาหาร
-โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดท้องตรงกลางใต้สะดือ ใครที่ปวดท้องบริเวณใต้สะดือบริเวณช่องท้องส่วนล่างเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การยกของหนัก ออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องมากเกินไป ซึ่งสามารถกินยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการได้ หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะร่วมด้วยก็อาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เช่นกัน
-โรคกรวยไตอักเสบ หากรู้สึกว่าปวดท้องเรื้อรังเป็นระยะเวลานานหลายคนมักจะรู้สึกปวดหลัง อาการปวดท้องตรงกลางลามมาปวดหลังอาจเป็นสัญญาณของโรคกรวยไตอักเสบซึ่งจะแสดงอาการร่วมกับการมีปัสสาวะสีขุ่น มีไข้ หนาวสั่น
5.ปวดท้องประจำเดือน
จริงๆแล้วการปวดท้องประจำเดือนบางคนปวดน้อย แต่บางคนปวดเยอะโดยที่ไม่มีโรคอะไรผิดปกติเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะสังเกตว่าเราผิดปกติหรือเปล่าให้เราเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ที่เราเป็น อย่างเช่น ของเดิมปวดหน่วง ปวดท้องน้อยธรรมดา แต่ต่อมาปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่ต้องกินยาแก้ปวดก็ต้องมากินยาแก้ปวด จากเดิมที่กินยาแก้ปวดเม็ดเดียวแล้วหายก็กลายต้องกินมากขึ้น หรือแม้ว่ากระทั่งกินยาแล้วก็ยังไม่ได้หายปวดก็เลยเรียกว่าผิดปกติ หรือว่ามีอาการปวดประจำเดือนร่วมทำอาการอย่างอื่นด้วย อย่างเช่น ประจำเดือนมาเยอะ ประจำเดือนมานานร่วมด้วยแบบนี้ก็เรียกว่าผิดปกติ สรุปก็คือต้องสังเกตอาการว่าเราเคยปวดอยู่แบบไหนลักษณะอาการปวดมากขึ้นรุนแรงจนกระทั่งผิดสังเกตหรือเปล่า
ปวดท้องประจำเดือนสามารถระบุหรือวินิจฉัยโรคได้ดังนี้ เช่น
– เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสจริงๆแล้วเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นได้ในหลายอวัยวะเลย อย่างเช่น ถ้าเป็นในมดลูกก็จะทำให้มดลูกโต ถ้าเป็นที่รังไข่ก็จะเกิดช็อกโกแลตซีสขึ้นมา
– เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูกก็จะทำให้เกิดอาการปวดประจำเดือนมากได้
กล่าวโดยสรุป
อาการปวดท้องมีหลายสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมต่างๆของผู้ป่วยเองรวมถึงเป็นสัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม หากอาการไม่รุนแรงเกิดจากปัจจัยที่คาดเดาได้ปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาบรรเทาอาการ และอาการปวดท้องเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เพราะฉะนั้นให้สังเกตอาการตนเองเสมอเพื่อจะได้รักษาอาการได้ทันท่วงทีนะคะ
แล้วพบกันใหม่กับสาระดี ๆในบทความเพื่อสุขภาพ เรื่องราวการดูแลสุขภาพจาก uHealthy.co ในบทความต่อไปกันค่ะ