7 สัญญาณ ที่บอกว่าเราอาจทานโปรตีนน้อยเกินไป

653

7 สัญญาณ ที่บอกว่าเราอาจทานโปรตีนน้อยเกินไป

โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญที่นอกจากให้พลังงานแล้ว ยังช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเพิ่มภูมิต้านทานแก่ร่างกาย โดยคนปกติในวัยผู้ใหญ่มีความต้องการโปรตีนประมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เช่น ถ้าเราหนัก 50 กก. ก็ควรได้รับโปรตีนวันละ 50 กรัม ส่วนคนที่เป็นนักกีฬา หรือออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อเป็นประจำ ก็จะต้องการโปรตีนมากขึ้น คืออย่างน้อย 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน

เชื่อว่าหลายคนอาจไม่มีเวลานั่งคำนวณโปรตีนจากอาหาร จึงไม่รู้ว่าแต่ละวันเรารับโปรตีนเข้าไปมากน้อยแค่ไหน ในบทความนี้ ยู เฮลท์ตี้ เลยจะมาพูดถึงอาการ 7 ข้อ ที่บ่งบอกถึงการขาดโปรตีน ซึ่งใครมีอาการเหล่านี้ 2 – 3 ข้อขึ้นไป ก็อาจเป็นได้ว่าเราทานโปรตีนน้อยเกินไปแล้ว

  1. มีอาการบวม

อาการบวมตามมือ เท้า ขา และท้อง อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการขาดโปรตีน เนื่องจากโปรตีนในกระแสเลือดของเราจะคอยดึงสารน้ำไม่ให้ไปคั่งค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อ เมื่อมีโปรตีนไม่เพียงพอเนื้อเยื่อต่างๆ จึงเกิดการบวมน้ำขึ้นมานั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม อาการบวมก็อาจบ่งบอกภาวะบางอย่าง อย่างโรคตับและโรคไตได้เหมือนกัน

  1. สุขภาพผิว เล็บ ผม มีปัญหา

ผิวหนัง เล็บ และผมของเรา ประกอบด้วยโปรตีนนานาชนิด เช่น คอลลาเจน อีลาสติน และเคราติน ดังนั้น เมื่อเรากินโปรตีนไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้เกิดอาการผิวแห้งลอกเป็นขุย เล็บเปราะบาง และผมขาดหลุดร่วงง่ายตามมาได้

  1. รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า

เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารให้พลังงาน และยังสำคัญกับการสร้างกล้ามเนื้อ คนที่กินโปรตีนไม่พอ โดยเฉพาะคนสูงอายุ จึงมักมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า อ่อนแรง ร่างกายเสียการทรงตัว และยังอาจส่งผลให้ระบบเผาผลาญแปรปรวน ร่างกายขาดพลังงาน และเกิดภาวะโลหิตจางได้อีกด้วย

  1. อารมณ์แปรปรวนง่าย

โปรตีนเป็นแหล่งของกรดอะมิโน ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท การขาดโปรตีนจึงส่งผลต่อการทำงานของสมอง แถมยังอาจทำให้เราสร้างสารโดพามีนกับเซโรโทนินได้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นที่มาของอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเกรี้ยวกราดกว่าปกติด้วย

  1. หิวบ่อย

ใครที่กินข้าวแล้วแต่ก็ยังหิวกิน หรือกินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มสักที เป็นไปได้ว่าเกิดจากเรากินโปรตีนน้อยเกินไป เพราะโปรตีนก็เป็นแหล่งพลังงานสำคัญเช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ทั้งยังมีงานวิจัยด้วยว่า การกินอาหารที่มีโปรตีนสูงจะช่วยให้เรารู้สึกอิ่มท้องนานขึ้น

  1. แผลหายช้า

ถ้าสังเกตว่าบาดแผลเล็กๆ ของเราหายช้าเกินไป หรือเลือดไหลนานกว่าปกติ การขาดโปรตีนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ เพราะการที่แผลหายช้าเกิดจากร่างกายไม่สามารถสร้างโปรตีนชนิดไฟบริน คอลลาเจน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ มาซ่อมแซมบาดแผลได้อย่างที่ควรจะเป็น

  1. ป่วยบ่อย

เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะใช้กรดอะมิโนสร้างสารที่เรียกว่า แอนตีบอดี (antibody) ขึ้นมาต่อต้านเชื้อดังกล่าว แต่หากร่างกายเราขาดกรดอะมิโนและโปรตีน กระบวนการสร้างแอนตีบอดีก็ย่อมล้าช้า จนเป็นที่มาของอาการป่วยกระเสาะกระแสะ เป็นไข้หวัดบ่อย หรือท้องเสียเป็นๆ หายๆ นั่นเอง

ใครที่อ่านบทความของ ยู เฮลท์ตี้ มาถึงตรงนี้ ลองเช็คตัวเองดูสิว่ามีสัญญาณอย่างที่ว่าหรือเปล่า … ส่วนใครที่มีปัญหาในการรับประทานโปรตีน เช่น แพ้อาหารบางอย่าง หรือเป็นโรคไต ก็อาจปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อให้แนะนำอาหารที่เหมาะสมกับเราก็ได้

รวมบทความดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลัง โรคและการป้องกัน สาระดีๆ ที่ต้องรีบแชร์ต่อ
uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ )