ริดสีดวงเป็นปัญหาสุขภาพในตำแหน่งลับ ๆ คือ บริเวณทวารหนัก ที่ไม่ค่อยมีใครอยากให้คนอื่นรู้ และสิ่งที่เราเคยได้ยินมา คือ โรคนี้มักเป็นกับคนแก่ แบบนี้ ยิ่งเป็น ก็ยิ่งอยากปิดบัง คงไม่มีใครอยากถูกแซวว่าสูงอายุนั่นเองค่ะ
อันที่จริงแล้ว ความเข้าใจว่าคนแก่มักเป็น “ริดสีดวงทวาร” ก็ถูกอยู่ครึ่งหนึ่งค่ะ เพราะคนวัยห้าสิบปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ถึง 50% แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็พบว่าโรคริดสีดวงทวาร หรือ HEMORRHOIDS เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารอันดับต้น ๆ ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและต้องใช้ยา ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ ในปัจจุบันก็พบว่าคนวัยหนุ่มสาวเป็นโรคริดสีดวงทวารกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อการดูแลตัวเองและแนะนำคนใกล้ชิด ให้ห่างไกลจากโรคนี้กันตั้งแต่อายุน้อย เรามารู้จักกับโรคริดสีดวงทวารกันให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของสาเหตุ ความเสี่ยง การป้องกันและการรักษากันนะคะ
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
หากไม่นับความเสี่ยงที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นและพันธุกรรมในครอบครัว โรคริดสีดวงทวาร นับว่าเป็นโรคที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของบุคคลนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ เรามาดูกันว่า พฤติกรรมหรือความเสี่ยงที่ว่านั้น มีอะไรบ้างค่ะ
1. ท้องผูกเป็นประจำ
ท่านที่นิยมรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีน (เนื้อหมู เนื้อวัว) โดยไม่ค่อยชอบรับประทานผักผลไม้ ธัญพืช หรือ ดื่มน้ำน้อยกว่าวันละ 6-8 แก้ว จะทำให้ขาดตัวกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวขับถ่ายอุจจาระออกไปทางทวารหนัก ทำให้ต้องนั่งถ่ายนาน ๆ เพราะอุจจาระแข็ง ในที่สุดก็ต้องเบ่งถ่าย ทำให้เส้นเลือดที่ทวารหนักโป่งพอง นั่นก็คือ โรคริดสีดวงทวารค่ะ
2. ขาดการออกกำลังกาย
ที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะวิ่ง เดิน เล่นโยคะ ว่ายน้ำ แอโรบิก ฯลฯ มักมีการขับถ่ายเป็นเวลาแน่นอน เช่น ตื่นนอนตอนเช้าช่วงตีห้าถึงแปดโมง ต้องได้ถ่ายหนักหนึ่งครั้ง แบบนี้ เรียกว่า นาฬิกาชีวิต ทำงานได้ดี เพราะร่างกายมีการเคลื่อนไหว อวัยวะภายในอย่างกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ก็จะให้ความร่วมมือในการขับถ่ายที่คล่องตัว ไม่ทำให้ท้องผูกง่าย ๆ
3. อาชีพที่เสี่ยง
ท่านที่จำเป็นต้องทำงานอยู่ที่เดิมต่อเนื่องหลายชั่วโมง เช่น พนักงานออฟฟิศ โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ จะทำให้อุจจาระในลำไส้เคลื่อนตัวช้า ทำให้อุจจาระยิ่งแข็งและถ่ายยาก จนต้องเบ่งถ่ายและกลายเป็นโรคริดสีดวงตามมาได้ค่ะ
4. ความเสื่อมถอยตามอายุ
ท่านที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นเวลาที่ความเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อมาเยือน รวมถึงเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณทวารหนัก อีกทั้งกิจกรรมออกกำลังกายที่ช่วยขยับเขยื้อนร่างกายก็น้อยลง อาการท้องผูกจึงตามมาง่าย ๆ เพียงเบ่งถ่ายอุจจาระ ก็อาจทำให้เส้นเลือดฝอยที่บริเวณทวารหนักฉีกขาด เป็นโรคริดสีดวงตามมาอีกเช่นกันค่ะ
5. พันธุกรรม
จากสถิติพบว่า หากในเครือญาติเป็นโรคนี้ ตัวท่านเองจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่ะ แม้ยังระบุได้ไม่ชัดเจนในขณะนี้ ว่าริดสีดวงทวารเกี่ยวข้องกับยีนส์ใด แต่มีการค้นพบแล้วว่า ยีนส์ชื่อ FOXC2 ที่อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 16 เกี่ยวข้องกับโรคเส้นเลือดขอดที่ขา ซึ่งเป็นความผิดปกติของเส้นเลือดที่โป่งพองตัวเช่นกัน เพียงต่างกันที่ตำแหน่งค่ะ
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
โดยทั่วไปแล้ว ท่านที่เป็นริดสีดวงทวาร จะมีความรู้สึกคัน ระคายเคือง บริเวณรอบรูทวารหนัก หากมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น จะเจ็บปวดอย่างมากเวลาขับถ่ายอุจจาระ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาท้องผูก อุจจาระเหนียวแข็งร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจสังเกตพบว่าอุจจาระมีเลือดสด ๆ ติดปนออกมาด้วย และมีติ่งที่สามารถปลิ้นหรือผลุบเข้าออกบริเวณทวารหนักร่วมด้วยค่ะ
ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ มีเกณฑ์แบ่งโรคริดสีดวงทวาร เป็นสองกลุ่ม โดยแยกตามตำแหน่งและอาการที่เป็น อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ได้ดังนี้ค่ะ
(1) โรคริดสีดวงทวารแบบภายใน
เป็นริดสีดวงที่มาจากการโป่งพองของเส้นเลือดใกล้ ๆ ทวารหนัก ซึ่งมีตั้งแต่คลำไม่พบ จนกระทั่งติ่งยื่นออกมา แบ่งได้เป็น 4 ระยะตามความรุนแรงดังนี้ค่ะ
– ระยะ 1 เมื่อคลำดูบริเวณรูทวารหนัก ท่านจะไม่พบติ่งโป่งพองใด ๆ แต่ช่วงที่มีการขับถ่ายอุจจาระ ติ่งนี้อาจถูกเสียดสี ทำให้สังเกตว่ามีเลือดสด ๆ ติดออกมากับอุจจาระได้ค่ะ
– ระยะ 2 มีติ่งริดสีดวงโผล่ออกมาเป็นครั้งคราว คือ โผล่ปลิ้นออกมาเฉพาะช่วงที่กำลังเบ่งถ่าย เมื่ออุจจาระถูกขับออกมาแล้ว ติ่งนี้จะผลุบหายเข้าไป
– ระยะ 3 คล้ายระยะ 2 ที่ติ่งริดสีดวงจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่าย แต่เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว ติ่งนี้จะไม่ผลุบกลับ ท่านต้องใช้นิ้วมือดันให้เข้าไปในรูทวารหนัก
– ระยะที่ 4 ติ่งหรือหัวริดสีดวงจะโผล่ออกมาด้านนอก ใหญ่และอักเสบจนไม่สามารถดันกลับเข้าไปข้างในรูทวารได้
(2) โรคริดสีดวงทวารแบบภายนอก
จะสามารถเห็นและคลำพบติ่งริดสีดวงที่ตำแหน่งตรงรอยย่นรอบรูปทวาร อันเกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักอักเสบโป่งพองตัว
วิธีการรักษาและการป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
การรักษาโรคริดสีดวงนั้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การใช้ยาเหน็บทางทวารหนักร่วมกับยาครีมกลุ่มสเตียรอยด์ที่เหมาะสม จะช่วยลดความอักเสบและทุเลาเจ็บปวดได้ค่ะ ทั้งนี้ มักให้ควบคู่กับยาเม็ดรับประทานได้แก่ ยาแผนปัจจุบัน Daflon® หรือยาแผนโบราณจากต้นเพชรสังฆาต โดยจำนวนเม็ดที่ต้องรับประทานและระยะเวลาที่ใช้ต่อเนื่องจะแตกต่างกันไปตามอาการของแต่ละท่านค่ะ จึงควรให้ข้อมูลอย่างละเอียดขณะที่ปรึกษาเภสัชกร เพื่อได้รับยาที่เหมาะสมต่อการรักษาค่ะ
ในบางกรณี แพทย์อาจลงความเห็นให้ท่านผ่าตัดหรือจี้ด้วยไฟฟ้า ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ขึ้นกับรายละเอียดคนไข้แต่ละรายค่ะ
2. การแก้ปัญหาที่สาเหตุและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นค่ะ ว่าโรคริดสีดวงทวารนั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนั้นท่านจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตให้เหมาะสม อาทิ เพิ่มการรับประทานอาหารกลุ่มเส้นใยไฟเบอร์ ธัญพืช เสริมข้าวกล้องไม่ขัดสีในมื้ออาหาร ดื่มน้ำให้ได้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน จัดเวลาออกกำลังกาย เพื่อให้ลำไส้มีการขยับเคลื่อนไหวที่ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป
โรคริดสีดวงทวาร ไม่ใช่โรคติดเชื้อที่เป็นภัยร้ายแรง แต่เป็นโรคที่มักเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้ท่านมีโอกาสเป็นเมื่อใดก็ได้หากละเลยการดูแลสุขภาพดังที่กล่าวมาค่ะ ที่สำคัญคือ หากรักษาหายแล้วก็ไม่ใช่การรับรองว่าจะไม่เกิดริดสีดวงรอบใหม่ขึ้นมาอีก หากท่านละเลยการป้องกันจากสาเหตุนะคะ
หากพบความผิดปกติของสุขภาพร่างกายของตัวท่านเองหรือบุคคลใกล้ชิด ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ท่านควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน เพื่อจัดการได้ตรงสาเหตุและได้ผลดีที่สุดค่ะ
แล้วพบกันใหม่กับสาระดี ๆ เพื่อการดูแลสุขภาพโดยเภสัชกร จาก uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ ) นะคะ
เภสัชกรหญิง กนกรัตน์ ไชยลาโภ
https://nokdinoschool.com/bio/
https://www.blockdit.com/dinoschool
คลิปน่าสนใจโรคริดสีดวงทวารค่ะ
พบหมอรามาฯ #RamaHealthTalk (ช่วงที่ 1)
ริดสีดวงทวาร สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก youtube : RAMA Channel
พบหมอมหิดล [by Mahidol]
ริดสีดวงทวาร รู้ไว้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก youtube : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
พบหมอมหิดล [by Mahidol]
8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับริดสีดวงทวาร
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก youtube : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล