รวม 7 สาเหตุที่ทำให้ท้องอืดพร้อมวิธีรักษา
อาการท้องอืด (Bloating) ถือเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ แม้ว่าไม่ได้เป็นอาการที่ร้ายแรงหรือน่ากังวล แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง หรือไม่สบายตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด และหากรู้ว่าอะไรเป็นตัวการ ก็จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ลองมาดูพร้อมกันดีกว่าว่าอาการที่ว่านี้เกิดจากสาเหตุใด และจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร
1.ดื่มนม
บางคนอาจรู้สึกแน่นท้องหลังดื่มนม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ปกติแล้วร่างกายของเราจะผลิตเอนไซม์แลคเตส ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม แต่หากมีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ร่างกายจะไม่สามารถผลิตเอนไซม์แลคเตสได้อย่างเพียงพอ เมื่อไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ ก็จะทำให้เกิดอาการท้องอืดและท้องเสียได้ในที่สุด
วิธีแก้ปัญหา: เลือกทานนมหรือโยเกิร์ตที่ได้จากพืช เช่น อัลมอนด์ ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต
2.ทานอาหารเร็วเกินไป
การใช้ชีวิตแบบเร่งรีบในแต่ละวันก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของเรา หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า ความเร็วที่ใช้ในการทานอาหารก็มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องอืดเช่นกัน เพราะยิ่งทานอาหารเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งกลืนอากาศเข้าไปในกระเพาะอาหารมากเท่านั้น
วิธีแก้ปัญหา: ทานอาหารให้ช้าลง และนั่งทานอาหารแทน เพราะจะทำให้ทานได้ช้ากว่าตอนเดินทาน
3.ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง
ในขณะที่เคี้ยวหมากฝรั่ง เราจะกลืนน้ำลาย และอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ สุดท้ายก็จะทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือความรู้สึกแน่นท้อง นอกจากนี้มีหมากฝรั่งหลายยี่ห้อที่เติมสารให้ความหวาน ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการท้องอืดแย่ลง
วิธีแก้ปัญหา: ถ้าอยากให้ลมหายใจสดชื่น ก็อาจเปลี่ยนไปใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือสเปรย์ระงับกลิ่นปากแทน
4.ดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป
ใครที่รู้ตัวว่าท้องอืดบ่อย ก็ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีก๊าซ เพราะหากบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากเกินไป ก็สามารถทำให้ก๊าซสะสมอยู่ภายในช่องท้องได้ และหากไม่ได้เรอออกมา ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกแน่นท้อง
วิธีแก้ปัญหา: ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ได้อัดลม เช่น ชา น้ำผลไม้ ฯลฯ
5.ทานคาร์บบางชนิด
ลำไส้เล็กอาจดูดซึมคาร์บบางชนิดได้ไม่ดี ทำให้อาหารที่ไม่ได้ถูกย่อยเกิดการหมักหมม และเกิดก๊าซได้ในที่สุด เราจะเรียกคาร์บเหล่านี้ว่า FODMAP สำหรับอาหารที่เข้าข่ายเป็น FODMOP เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม แอปเปิ้ล เชอร์รี พีช น้ำผึ้ง ไซลิทอล หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเหลือง แป้งสาลี
วิธีแก้ปัญหา: ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเกี่ยวกับการทานอาหารที่มี FODMAP ต่ำ
6.ท้องผูก
หากอาการท้องอืดหายไปหลังจากที่มีการทำธุระหนัก ก็อาจสัมพันธ์กับอาการท้องผูก เพราะยิ่งอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่มากเท่าไร แบคทีเรียก็จะยิ่งมีเวลาหมักตัวมากเท่านั้น ส่งผลให้เกิดก๊าซมากขึ้น
วิธีแก้ปัญหา: ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด อัลมอนด์ มันหวาน หรือใช้ยาถ่ายที่ช่วยเพิ่มปริมาตรน้ำ ซึ่งจะทำให้ท้องอืดน้อยกว่ายาถ่ายแบบไฟเบอร์
7.มีประจำเดือน
ในช่วงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงแต่ละคนก็จะมีอาการต่างกันไป เช่น บางคนอาจรู้สึกหิวบ่อย หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ หรือแม้แต่ท้องอืด ในช่วงนี้ฮอร์โมนในร่างกายจะมีความผันผวน ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะคั่งน้ำ ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด และปวดท้องเกร็งได้นั่นเอง
วิธีแก้ปัญหาท้องอืด : การทานแมคนีเซียมแบบอาหารเสริมสามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะคั่งน้ำในระหว่างที่มีประจำเดือน หากอาการท้องอืดมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือปวดตัว ก็อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการทานยาคุมกำเนิด ซึ่งสามารถช่วยให้อาการดังกล่าวบรรเทาลงได้
แม้ว่าเราสามารถรักษาอาการท้องอืดด้วยตัวเองที่บ้าน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องมาก เป็นไข้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ฯลฯ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะบางทีอาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคร้าย
รวมบทความดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลัง โรคและการป้องกัน สาระดีๆ ที่ต้องรีบแชร์ต่อ
uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ )