7 วิธีดูแลข้อต่อให้แข็งแรงอยู่เสมอ

568

7 วิธีดูแลข้อต่อให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ข้อต่อ (Joints) ถือเป็นบริเวณหนึ่งของร่างกายที่เชื่อมกระดูกของเราให้ติดกัน และมีส่วนช่วยให้กระดูกสามารถเคลื่อนไหวได้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้น บริเวณข้อต่อก็สามารถเสื่อมสภาพได้ไม่ต่างจากอวัยวะอื่น ๆ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ละเลยการดูแลข้อต่อจนกระทั่งร่างกายเริ่มส่งสัญญาณอาการเจ็บป่วย ดังนั้นถ้าไม่อยากเครียด หรือเสียเงินไปกับการรักษาตัวในอนาคต ก็ควรเริ่มดูแลรักษาข้อต่อตั้งแต่วันนี้ ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีวิธีไหนบ้างที่ช่วยรักษาข้อต่อให้แข็งแรงอยู่เสมอ

1.หมั่นเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถช่วยบรรเทาอาการข้อต่อฝืด ลดอาการปวดข้อต่อ เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อต่อ และช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ โดยอาจลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายทุก 15 นาที หรือแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย สำหรับการออกกำลังกายที่แนะนำก็คือ การออกกำลังกายชนิดแรงกระทบต่ำ (Low-Impact Exercises) ซึ่งจะไม่ทำให้ข้อต่อของเราทำงานหนักเกินไป เช่น การว่ายน้ำ การเดิน การปั่นจักรยาน การเล่นกอล์ฟ ฯลฯ

2.รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสามารถช่วยให้ข้อต่อมีสุขภาพดี เพราะหากปล่อยให้ตัวเองอ้วนเกินไป ก็จะทำให้ข้อต่อต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่า การลดน้ำหนักสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บหัวเข่า และอาการข้อฝืดที่สัมพันธ์กับโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

3.เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อ

การดูแลรักษากล้ามเนื้อที่มีส่วนช่วยพยุงข้อต่อถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งเราสามารถรักษา หรือเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ โดยใช้วิธีออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ ตัวอย่างเช่น เวทเทรนนิ่ง (Weight Training) แต่ก็ต้องระมัดระวังขณะออกกำลังกาย และไม่หักโหมจนเกินไป หากออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ข้อต่อ และบรรเทาอาการปวดได้

4.ออกกำลังกายที่เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อ

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบจะมีพิสัยการเคลื่อนไหวที่จำกัด หากต้องการรักษา หรือปรับพิสัยการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น ก็ควรหมั่นให้ข้อต่อแต่ละข้อได้เคลื่อนไหวเต็มที่ โดยใช้วิธียืด โค้ง หรือหมุนแต่ละข้อต่อ ซึ่งการออกกำลังกายที่เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดและอาการปวด อีกทั้งยังช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่นมากขึ้น และทำงานได้อย่างราบรื่น

5.ทานอาหารที่ช่วยต้านการอักเสบ

การลดการอักเสบถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยควบคุมอาการของโรคข้ออักเสบ และทำให้สุขภาพโดยรวมของข้อต่อดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ช่วยได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น และในเวลาเดียวกันก็ควรทานอาหารที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบให้มากขึ้นแทน ซึ่งอาหารที่ช่วยควบคุมการอักเสบได้ดีก็คือ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชเต็มเมล็ด ปลา และน้ำมันมะกอก

6.เติมวิตามินดีและแคลเซียมให้ร่างกาย

วิตามินดีและแคลเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ซึ่งวิตามินดีมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม หากร่างกายมีแคลเซียมต่ำ มวลกระดูกก็จะลดลง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะกระดูกหัก อย่างไรก็ตาม เราสามารถรับวิตามินดีผ่านการอาบแดด และการทานอาหารบางชนิดหรืออาหารเสริม ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น ไข่แดง ปลาที่มีไขมันสูง ชีส ตับวัว ฯลฯ

7.เลิกสูบบุหรี่

เมื่อพูดถึงโทษของการสูบบุหรี่ เชื่อได้ว่าหลายคนน่าจะนึกถึงโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปอดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วนั้น การสูบบุหรี่ยังสามารถทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกหัก อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่ร่างกายจะบาดเจ็บจากภาวะเอ็นอักเสบ ยิ่งไปกว่านั้น คนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และเป็นโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ หากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ก็จะช่วยให้สุขภาพกระดูกและข้อต่อดีขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่าร่างกายของเราจะร่วงโรยไปตามธรรมชาติ แต่การหมั่นดูแลตัวเองอยู่เสมอ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ หากสามารถทำตามที่กล่าวไปข้างต้นได้ การมีข้อต่อที่แข็งแรงก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

รวมบทความดีๆ เกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลัง โรคและการป้องกัน สาระดีๆ ที่ต้องรีบแชร์ต่อ
uHealthy.co ( ยู เฮลท์ตี้ )